การใช้รูปวรรณยุกต์เอกในคำ แซ่บ กับ แซ่ด

นิตยา กาญจนะวรรณ
ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย
สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา

อักขรวิธีไทยกำหนดไว้ว่า ถ้าพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำมีสระเสียงยาว และตัวสะกดเป็นคำตาย จะเป็นเสียงโทได้ทันทีโดยไม่ต้องมีรูปวรรณยุกต์กำกับ เช่น งาก แต่ถ้าเป็นสระสั้น ต้องใช้รูปวรรณยุกต์เอกกำกับ เพื่อให้เป็นเสียงโท เช่น งั่ก

หลักเกณฑ์นี้ปรากฏอยู่ในตำราภาษาไทยหลายเล่มนับแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นมา เช่น หลักภาษาไทย ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร มีตัวอย่างคือคำว่า คั่ก (พระยาอุปกิตศิลปสาร, ๒๕๓๓ : ๑๕) ลักษณะภาษาไทย ของ ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา มีตัวอย่างคือคำว่า งั่ก (บรรจบ พันธุเมธา, ๒๕๕๙ : ๓๖) บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๑ ของ กระทรวงศึกษาธิการ มีตัวอย่างคือคำว่า คึ่ก (สถาบันภาษาไทย, ๒๕๔๕ : ๘๒)

คำว่า แซ่บ ระบุไว้ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า

แซ่บ (ถิ่น-อีสาน) ว. อร่อย.

คำนี้ภาษาไทยมาตรฐานซึ่งมีที่มาจากภาษาถิ่นออกเสียงสั้น (เปรียบเทียบกับเสียงยาวในคำว่า แสบ) แสดงว่า คำนี้มาจาก ซ + สระแอะ + บ ไม่ใช่ ซ + สระแอ + บ จึงใส่รูปวรรณยุกต์เอกได้เช่นเดียวกับที่ ค + สระอะ + ก กลายเป็น คั่ก ง + สระอะ + ก กลายเป็น งั่ก และ ค + สระอึ + กลายเป็น คึ่ก

ในอักขรวิธีไทยมีการเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงเสียงสั้นยาวอยู่หลายคู่ เช่น

  • ก+อา+น=กาน ก+อะ+ น=กัน (เปลี่ยนอะเป็นไม้หันอากาศ)
  • ปร+ เอ+ต=เปรต ป+ อะ+ด=เป็ด (เปลี่ยนเอะเป็นเ+ไม้ไต่คู้)
  • ท+แอ+ก=แทก ท+แอะ+ก=แท็ก (เปลี่ยนแอะเป็นแ+ไม้ไต่คู้)
  • ก + โอ + น=โกน ก + โอะ + น =กน (สระโอะหายไป กลายเป็นสระโอะลดรูป)

สระที่ไม่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงเสียงสั้นยาวก็มีอยู่มาก เจ้าของภาษาเท่านั้นที่จะรู้ว่า คำใดออกเสียงสั้น คำใดออกเสียงยาว เช่น

  • ก+เอ+ง=เก้ง (เสียงยาว) ก+เอะ+ง=เก่ง (เสียงสั้น)
  • ด + เออ + น = เดิน (เสียงยาว) ง + เออะ + น = เงิน (เสียงสั้น)
  • จ + ออ + = จอ (เสียงยาว) จ + เอาะ + = จ้อ (เสียงสั้น)

คำประเภทนี้เคยมีรูปไม้ไต่คู้กำกับเพื่อบอกเสียงสั้น ดังตัวอย่างที่ปรากฏในพจนานุกรม สัพะ พะจะ นะ พาสาไท ตำรา แบบเรียนเร็ว และ พจนานุกรม (ร.ศ. ๑๒๐)

พจนานุกรม สัพะ พะจะนะ พาสาไท (ปัลเลอกัวซ์, ๒๕๔๒ : ๒๖๐) มีคำว่า เก่ง ซึ่งมี เครื่องหมายไม้ไต่คู้กำกับเพื่อแสดงเสียงสั้น เปรียบเทียบกับคำว่า เก้ง ซึ่งเป็นเสียงยาว

สัพะ พะจะนะ พาสาไท

ตำรา แบบเรียนเร็ว ฉบับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขียนคำว่า เดิน เป็น เดีน และเขียนคำว่าเงิน เป็น เงีน โดยมีเครื่องหมายไม้ไต่คู้กำกับให้รู้ว่าเป็นเสียงสั้น

จนานุกรม (ร.ศ. ๑๒๐) ฉบับกรมศึกษาธิการ เขียนคำว่า จ่อนจ่อ กับ จ้อน โดยมีเครื่องหมายไม้ไต่คู้กำกับเพื่อแสดงเสียงสั้น (กรมวิชาการ, ๒๕๔๑ : ๘๘)

พจนานุกรม (ร.ศ. ๑๒๐)

คำเหล่านี้ในสมัยต่อมาได้ตัดเครื่องหมายไม้ไต่คู้ออกไป รูปการเขียนจึงไม่สามารถแสดงความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นกับเสียงยาวได้ แต่เจ้าของภาษาจะรู้ได้เพราะเคยได้ยินสืบเนื่องกันมา
ส่วนคำบางคำมีเครื่องหมายไม้ไต่คู้เข้ามาช่วยบอกเสียงสั้นโดยตรง เช่น

ล + สระออ + ก = ลอก (เสียงยาว)
ล + สระออ + ก = ล็อก (เสียงสั้น)

คำอื่น ๆ ในทำนองนี้ยังมีอีกหลายคำเช่น
ง่อกแง่ก แซ่ด ม่อล่อกม่อแล่ก ล่อกแล่ก เลิ่กลั่ก ว่อกแว่ก

เมื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของรูปการเขียนที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึง ฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๔ จะเป็นดังนี้

  • พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ เก็บคำไว้ว่า
    งอกแงก แซด แซบ ม่อลอกม่อแลก ล่อกแล่ก วอกแวก
  • พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บคำไว้ว่า
    งอกแงก แซด แซบ ม่อลอกม่อแลก ลอกแลก เลิ่กลั่ก วอกแวก
  • พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บคำไว้ว่า
    ง่อกแง่ก แซด แซบ ม่อลอกม่อแลก ลอกแลก เลิ่กลั่ก วอกแวก
    พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เก็บคาไว้ว่า
    ง่อกแง่ก แซ่ด แซ่บ ม่อล่อกม่อแล่ก ล่อกแล่ก เลิ่กลั่ก ว่อกแว่ก

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ เก็บคำว่า ล่อกแล่ก ซึ่งมีรูปวรรณยุกต์เอกไว้แล้ว ส่วนคำว่า เลิ่กลั่ก ยังไม่ได้เก็บไว้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ถอดรูปวรรณยุกต์เอกออกจากคำว่า ลอกแลก และเพิ่มคำว่า เลิ่กลั่ก เข้ามา พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เพิ่มรูปวรรณยุกต์เอกลงในคำว่า ง่อกแง่ก และในท้ายที่สุด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ก็เก็บคำตามอักขรวิธีไทยที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น โดยเพิ่มรูปวรรณยุกต์เอกลงในคำว่า แซ่ด แซ่บ ม่อล่อกม่อแล่ก ล่อกแล่ก และ ว่อกแว่ก เพราะคำเหล่านี้ล้วนแต่ออกเสียงสั้น และสามารถเขียนได้ตามอักขรวิธีไทย

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์นี้มิได้ใช้กับคำทับศัพท์ ซึ่งราชบัณฑิตยสภายึดถือตามที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเสนอในที่ประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๐๕ เรื่องการเขียน ภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ว่า “…การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำใน ประโยค จึงไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับ” (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ๒๕๓๔ : ๑๕)

ส่วนคำที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น เริ่ด แร่ด หล่ะ แหล่ะ อ่ะ ป่ะ ห่ะ นั้น มีที่เขียนถูกต้องตามอักขรวิธี เพียง ๒ คำ คือ เริ่ด กับ แร่ด คำว่า เริ่ด ที่หมายถึง “สวยหรูและดูเด่นเลอเลิศ มักมีลักษณะเกิน พอดี” ไม่ออกเสียงยาวเหมือนกับคำว่า เลิศ ส่วน แร่ด ที่หมายถึง “ประพฤติตัวประเจิดประเจ้อและ เหลวแหลกในทางชู้สาว” ก็ไม่ได้ออกเสียงยาวเหมือนกับคำว่า แรด ที่เป็นชื่อสัตว์ จึงน่าจะเป็นคนละคำกัน คำอย่าง เริ่ด และ แร่ด อาจจะเก็บไว้ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา ต่อไปในอนาคต ในฐานะภาษาปาก แต่คำอย่าง หล่ะ แหล่ะ อ่ะ ป่ะ ห่ะ คงไม่เก็บเพราะไม่เป็นไปตามอักขรวิธีไทยปัจจุบัน

บรรณานุกรม

  • กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๑. พจนานุกรม (ร.ศ. ๑๒๐) ฉบับกรมศึกษาธิการ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ๒๕๔๒. แบบเรียนเร็ว เล่ม ๑, ๒, ๓ กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.
  • นราธิปพงศ์ประพันธ์, พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. ๒๕๓๔. พระอัจฉริยลักษณ์ด้าน ภาษาศาสตร์ กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
  • บรรจบพันธุเมธา.๒๕๕๙ ลักษณะภาษาไทย.พิมพ์ครั้งที่๒๒.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง .
  • ปัลเลอกัวซ์ (Pallegoix). ๒๕๔๒. สัพะ พะจะนะ พาสาไท. สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระ ทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๔๙๓. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท คณะช่าง จากัด.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๓๙. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๔๖. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๕๖. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.
  • สถาบันภาษาไทย. ๒๕๔๕. บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : สถาบัน ภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.
  • อุปกิตศิลปสาร, พระยา. ๒๕๓๓. หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.