ข้อเสนอ แผนการสร้างระบบรองรับ “สังคมคนไทยอายุยืน”

สังคมคนไทยอายุยืน
ความจริง วิกฤติการณ์ และข้อแนะนำ

จัดทำโดย
คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำข้อเสนอแผนแม่บทเรื่องสังคมผู้สูงอายุต่อรัฐบาล
ราชบัณฑิตยสภา

previous arrow
next arrow
Slider

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในประเทศไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมที่ประชากรมีอายุยืนมากขึ้น และจะส่งผลกระทบในมิติต่าง ๆ ในด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านชุมชนสังคม และก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในอนาคต

ราชบัณฑิตยสภาในฐานะที่เป็นสถาบันหลักของเครือข่ายทางปัญญาแห่งชาติที่มีพันธกิจสำคัญประการหนึ่งคือ ให้ความเห็น คำแนะนำ และคำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคือ คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำข้อเสนอแผนแม่บทเรื่องสังคมผู้สูงอายุต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบในมิติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมผู้สูงวัยหรือสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งในที่นี้จะใช้ว่าสังคมคนไทยอายุยืน ระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนรองรับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและนำเสนอต่อรัฐบาล

ราชบัณฑิตยสภาเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นที่คนไทยและรัฐบาลไทย จะต้องร่วมกันสร้างระบบเพื่อรองรับสังคมไทยอายุยืนอย่างจริงจังเป็นการด่วน โดยการบูรณาการนโยบายของรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น จึงได้เสนอข้อแนะนำดังต่อไปนี้

สถานการณ์สังคมคนไทยอายุยืน

ปัจจุบันโครงสร้างของประชากรในประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานจะเริ่มลดลง และสัดส่วนของเด็ก (0-14 ปี) ก็จะลดลงเรื่อย ๆ

ปัจจุบันปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ ส่วนใหญ่จะเกิดจาก “คนท้องที่ไม่พร้อม” ส่วน “คนพร้อมไม่ท้อง”  คุณภาพคนวัยทำงานในอนาคตที่มีสัดส่วนน้อยลงอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร  ใครจะจ่ายภาษีอากรให้แก่รัฐบาล  เพื่อบริหารงานของประเทศและเพื่อเป็นสวัสดิการกับสังคม  ขณะที่คนวัยทำงานซึ่งมีพี่หรือน้องน้อยลง  จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นทั้งเลี้ยงดูพ่อ แม่ และลูกของตนมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2493-2513 ประเทศไทยอยู่ในช่วง “เด็กเกิดล้าน” จึงมีการรณรงค์ให้มีการคุมกำเนิดอย่างจริงจัง และทำให้อัตราการเกิดของเด็กลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา  เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่เกิดในช่วง “เด็กเกิดล้าน” ก็กลายเป็นผู้สูงอายุในปัจจุบัน (ปี 2563) ที่มีถึงร้อยละ 19 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน และคาดว่าเมื่อถึงปี 2578  ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30.5 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 21 ล้านคน ดังปรากฏในแผนภาพและตารางต่อไปนี้

จากโครงสร้างประชากรทั้งปริมาณและคุณภาพที่เปลี่ยนไป และกำลังจะเปลี่ยนต่อไปอย่างรวดเร็วอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้  จึงทำให้ประเทศไทยกำลังต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ซึ่งในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า คนไทยที่อายุ ๔๐-๖๐ ปีในปัจจุบัน จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่จะต้องเผชิญปัญหาเป็นกลุ่มแรก โดยมีผู้สูงอายุมากถึง ๑ ใน ๓ ของประชากรหรือมากกว่า ๒๐ ล้านคน ในเวลานั้น และจำทำให้คนไทยที่มีอายุน้อยกว่า ๔๐ ปีในปัจจุบัน จะต้องแบกรับภาระมากขึ้น เพราะนอกจากจะต้องดูแลจ่ายภาษี และทำงานประกอบอาชีพเลี้ยงตนแล้ว ยังต้องดูแลบิดามารดาที่ชราภาพ และบุตรอีกด้วย จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนหรือวางระบบเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับ “สังคมคนไทยอายุยืน” ในอนาคต โดยพิจารณาปัญหาจากมิติด้านต่าง ๆ ดังนี้

๑. มิติด้านเศรษฐกิจ

๑.๑ การวิเคราะห์ปัญหา

๑.๑.๑ จะปรับปรุงและพัฒนาระบบสวัสดิการโดยเฉพาะระบบบำนาญภาคราชการ ระบบประกันสังคมในภาคเอกชนและระบบบำนาญให้แก่ผู้มีอาชีพอิสระให้เพียงพอ มั่นคง และยั่งยืนอย่างไร  

๑.๑.๒ จะพัฒนาระบบการออมของคนไทยอย่างไรให้เป็นจริง เพื่อให้คนสูงอายุเมื่อหยุดทำงานจะมีเงินเก็บออมไว้ใช้ของตัวเองทั้งการออมด้วยเงินและการออมด้วยรูปแบบอื่น

๑.๑.๓ จะส่งเสริมการขยายอายุการทำงานของคนไทยในทุกภาคส่วนอย่างไร ให้มีความเหมาะสมโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสมัครใจของผู้ทำงานต่อได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม

๑.๑.๔ จะมีนโยบายเรื่องแรงงานอย่างไร เนื่องจากในอนาคตประเทศไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย

๑.๑.๕ จะสร้างแรงจูงใจ และลดภาระทางเศรษฐกิจ ให้ผู้ที่พร้อมจะมีลูกอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร

๑.๑.๖ จะมีการกระจายอุตสาหกรรม และการบริการเพื่อให้มีการจ้างงานที่ใกล้ชุมชนชนบทอย่างไร เพื่อให้คนทำงานยังอยู่กับครอบครัว สามารถดูแลบิดา มารดา และบุตรได้ โดยไม่มีการย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น  

๑.๒ ข้อเสนอแผนรองรับมิติด้านเศรษฐกิจ

๑.๒.๑ ปรับปรุง พัฒนาระบบบำนาญและระบบสวัสดิการ  โดยเฉพาะระบบประกันสังคมให้มีความยั่งยืนในอนาคต  ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงระยะยาวที่นำเงินของผู้ทำงานที่จ่ายสะสมมารวมกัน  ในอนาคตเมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ผู้รับประโยชน์จากกองทุนจะมีจำนวนมาก  แต่ผู้จ่ายเข้ากองทุนจะมีจำนวนน้อย 

การแยกบัญชีบำนาญของแต่ละบุคคลออกจากกัน จะสร้างแรงจูงใจในการออมของคนทำงานแต่ละบุคคล 

๑.๒.๒ สร้างมาตรการส่งเสริมการออม ความรู้ความเข้าใจในการบริหารเงิน วินัยการเงิน ขยายและปรับปรุงกองทุนการออมแห่งชาติ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพรายได้ของแต่ละอาชีพ และกำหนดเงินประเดิมที่ภาครัฐจะให้เพิ่มอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นของการออม 

กำหนดมาตรการการออมภาคบังคับ เช่น การเก็บภาษีเพื่อการออมร้อยละ ๓ ร่วมกันไปกับภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗ ของมูลค่าที่มีการใช้จ่ายของแต่ละบุคคล นำเงินออมร้อยละ ๓ ร่วมสะสมไว้ในชื่อของแต่ละบุคคล  และเฉลี่ยคืนพร้อมผลตอบแทนให้แก่ผู้จ่ายภาษีการออมเมื่อต้องหยุดทำงานในยามชราภาพ รวมทั้งส่งเสริมการออมทางเลือก เช่น การออมโดยปลูกไม้ยืนต้นและเลี้ยงปศุสัตว์

๑.๒.๓ ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ และขยายอายุการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการทำงานอิสระ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสมัครใจ เนื่องจากคนไทยอายุยืนและสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ควรมีมาตรการจูงใจให้คนไทยมีทักษะความรู้ในการทำงานประเภทอื่น ๆ นอกจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นงานสำรองในยามสูงอายุ และสามารถทำงานโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

๑.๒.๔ ควรมีนโยบายเรื่องการรับคนทำงานที่มีคุณภาพและอยากทำงานในประเทศไทยอย่างถาวร เนื่องจากอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงาน และประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยตามหลังประเทศไทย

๑.๒.๕ สร้างแรงจูงใจให้ผู้พร้อมที่จะมีบุตร ได้มีบุตรอย่างมีคุณภาพ ลดภาระทางเศรษฐกิจ และลดภาระของมารดาในการเลี้ยงดูบุตรโดยให้บิดามีส่วนร่วม จัดให้มีสถานเลี้ยงเด็กและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุในตอนกลางวันอยู่ใกล้ที่ทำงาน

๑.๒.๖ กระจายอุตสาหกรรม บริการ และการจ้างงานออกไปยังท้องถิ่น ชุมชนชนบท เพื่อให้มีการจ้างงานในพื้นที่ใกล้ชุมชน ทำให้คนทำงานสามารถอยู่กับครอบครัว และสามารถดูแลบิดา มารดา และบุตรได้

๒. มิติด้านสภาพแวดล้อม

๒.๑ การวิเคราะห์ปัญหา

๒.๑.๑ จะมีนโยบายและมาตรการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ถนน การเดินทาง อาคารและสถานที่สาธารณะอย่างไร ให้มีความเหมาะสมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับคนทุกวัย ทุกประเภท

๒.๑.๒ จะมีนโยบายและส่งเสริมให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนและสถาบันการศึกษาการเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนอย่างไร โดยมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มจิตอาสา หรือจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ของท้องถิ่นและชุมชนได้

๒.๑.๓ จะส่งเสริมภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ให้เข้ามีส่วนร่วมเพื่อปรับสภาพแวดล้อมของบ้านและชุมชนอย่างไร (ยึดหลักการ “หนึ่งคนล้ม เจ็บทั้งบ้าน” และ “ปรับสภาพแวดล้อมมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า สร้างสรรค์กว่า เมื่อมีการพลัดตกหกล้ม”)

๒.๑.๔ จะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาคารสาธารณะและอาคารที่อยู่อาศัย ที่ให้อาคารสาธารณะและอาคารที่อยู่อาศัยมีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุอย่างไร

๒.๒ ข้อเสนอแผนรองรับมิติด้านสภาพแวดล้อม

๒.๒.๑ ปรับสภาพแวดล้อมบ้าน ถนนหนทาง การเดินทาง อาคารและสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมสำหรับคนทุกวัย ผู้สูงอายุ หนุ่ม สาว เด็ก และคนพิการ ในลักษณะ “อยู่ดี” (Universal Design) โดยให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่แตกต่างกัน

๒.๒.๒ ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิ อาสาสมัครกู้ภัย และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องออกแบบ โยธาและงานช่าง ได้ประสานองค์ความรู้เพื่อให้เกิดจิตอาสาร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นปรับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของตน

๒.๒.๓ จัดตั้ง “ศูนย์อยู่ดี” ในทุกอำเภอ โดยใช้โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนหรือมีนักเรียนน้อย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบปรับสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย จัดให้มีอุปกรณ์พื้นบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม สำรวจความจำเป็นและกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อม

นอกจากนี้ “ศูนย์อยู่ดี” อาจใช้ประโยชน์เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ในการเรียนรู้และทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ

๒.๒.๔  ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้ลงทุนแข่งขันผลิตวัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย โดยเน้นใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นวัสดุและเทคโนโลยีพื้นบ้าน

๒.๒.๕ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับอาคารสาธารณะและอาคารที่อยู่อาศัย ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และทุพพลภาพ สำหรับอาคารที่สร้างก่อนกฎหมายใช้บังคับต้องปรับปรุงอาคารให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ปี นอกจากนี้ ธุรกิจที่ดำเนินการด้านที่อยู่อาศัยจะต้องจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุอย่างน้อยร้อยละ ๑๐

. มิติสุขภาพ

.๑ การวิเคราะห์ปัญหา

๓.๑.๑ จะมีมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี หรือลดความเจ็บป่วยในทุกช่วงวัยได้อย่างไร

๓.๑.๒ อนาคตผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น โรงพยาบาลที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่รองรับผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ รัฐจะมีแนวทางพัฒนา “ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ” ทั้งก่อนไปโรงพยาบาล ก่อนกลับบ้าน และก่อนตายอย่างไร และปัญหาจำนวนคนติดบ้าน และติดเตียงเพิ่มมากขึ้น จะมีการจัดการระบบหรือมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีกิจกรรมเพื่อบำบัดของผู้สูงอายุและผู้พิการกระจายทุกตำบลอย่างไร รวมถึงจะพัฒนาระบบให้มีนักบริบาลซึ่งเป็นจิตอาสาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานได้อย่างไร

๓.๑.๓ จะมีมาตรการหรือส่งเสริมในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการดูแล รักษา ผู้สูงอายุทั้งทางใกล้และทางไกลอย่างไร

.๒ ข้อเสนอแผนรองรับมิติสุขภาพ

๓.๒.๑ สร้างมาตรการการให้คนไทยมีสุขภาพดีให้นานที่สุด ลดช่วงเวลาเจ็บป่วยและภาวะพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยลง พึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ใช้หลัก “สร้างนำซ่อม” เตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และพฤติกรรม เช่น การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย การส่งเสริมการออกกำลังกาย การสร้างอารมณ์ที่ดี เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี

๓.๒.๒ สนับสนุนการจัดระบบดูแลระยะกลาง (Intermediate care) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้ว โดยจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพิการ และลดภาระของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด

๓.๒.๓ ขยายระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long term care) ช่วยผู้ที่ประสบภาวะยากลำบากอันเนื่องจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น การประสบอุบัติเหตุ พิการ ตลอดจนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นบริการของสถานพยาบาลที่ให้บริการที่บ้านผู้สูงอายุ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการดูแล

๓.๒.๔ จัดให้มีระบบอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ได้รับการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน และสร้างระบบการดูแลที่บ้านตามตารางระยะเวลาที่เหมาะสมและชัดเจน

๓.๒.๕  ส่งเสริมให้ทุกคนมีแนวคิด “ตายดี” โดยเฉพาะช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต ด้วยการสร้างความรู้ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดชีวิต แต่อาศัยบุคคล ครอบครัวและคนในชุมชนร่วมกันดูแลแทน

. มิติชุมชนสังคม

.๑ การวิเคราะห์ปัญหา

๔.๑.๑ ในอนาคตองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะมีบทบาทในการรองรับสังคมคนไทยอายุยืนร่วมกับชุมชนอย่างไรบ้าง 

๔.๑.๒ จะให้ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล มีส่วนร่วมเพื่อสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างไรบ้าง

๔.๑.๓ รัฐจะมีการส่งเสริมหรือจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มคน ๓ วัยในรูปแบบใด เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขมากขึ้น และหน่วยงานหรือองค์กรใดควรจะรับผิดชอบ

๔.๑.๔ จะมีมาตรการในการจัดการปัญหาและความต้องการของชุมชนหรือท้องที่มีความแตกต่างกันอย่างไรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการและท้องถิ่นนั้น ๆ

.๒ ข้อเสนอแผนรองรับมิติชุมชนสังคม

๔.๒.๑ ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานเพื่อรองรับสังคมคนไทยอายุยืนร่วมกับชุมชน โดยให้มีการรวมตัวของผู้สูงอายุในปัจจุบันและผู้สูงอายุสำรอง

๔.๒.๒ กระจายอำนาจให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้สามารถวางระบบรองรับสังคมคนไทยอายุยืนในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน และสามารถดำเนินงาน ใช้ทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณ

๔.๒.๓ ควรเปิดศูนย์เรียนรู้ร่วมกันของคน ๓ วัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชน ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้โรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนน้อยหรือไม่มีนักเรียน

๔.๒.๔ ส่งเสริมให้พระและผู้นำศาสนา มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสังคมคนไทยอายุยืนที่จะเกิดในอนาคต

บทสรุปผู้บริหาร
การสร้างระบบรองรับ “สังคมคนไทยอายุยืน”

สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและหลีกไม่พ้นคือ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคนไทยอายุยืนหรือที่เรียกว่าสังคมสูงวัย โดยคาดว่าใน ๑๕ ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุ (๖๐ ปี ขึ้นไป) จะมีมากถึงร้อยละ ๓๐ ขณะที่สัดส่วนคนวัยทำงานจะลดลง สัดส่วนของเด็กและเยาวชน (๐-๑๔ ปี) ก็จะลดน้อยถอยลงเช่นกัน

คนไทยอายุ ๔๐-๖๐ ปีในปัจจุบันที่จะเป็นผู้สูงอายุในเวลานั้น จะต้องเผชิญปัญหาเป็นอันดับแรก ส่วนคนไทยอายุน้อยกว่า ๔๐ ปีในปัจจุบันจะต้องแบกรับภาระทั้งเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ที่ชราภาพ และต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกด้วย

ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กที่เกิดในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจาก “คนท้องที่ไม่พร้อม” ส่วน “คนพร้อมไม่ท้อง” จึงทำให้จำนวนและคุณภาพคนวัยทำงาน คนจ่ายภาษีอากรในอนาคตจะมีน้อยลง และอาจสร้างปัญหาความยั่งยืนทางการคลังได้

ราชบัณฑิตยสภาจึงมีความเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างระบบเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ “สังคมคนไทยอายุยืน” โดยรองรับ ๔ มิติ ดังนี้

. มิติเศรษฐกิจ

๑) ปรับปรุง พัฒนาระบบบำนาญและระบบสวัสดิการ  โดยเฉพาะระบบประกันสังคมให้มีความยั่งยืนในอนาคต  ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงระยะยาวที่นำเงินของผู้ทำงานที่จ่ายสะสมมารวมกัน  ในอนาคตเมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ผู้รับประโยชน์จากกองทุนจะมีจำนวนมาก  แต่ผู้จ่ายเข้ากองทุนจะมีจำนวนน้อย 

การแยกบัญชีบำนาญของแต่ละบุคคลออกจากกัน จะสร้างแรงจูงใจในการออมของคนทำงานแต่ละบุคคล 

๒) สร้างมาตรการส่งเสริมการออม ความรู้ความเข้าใจในการบริหารเงิน วินัยการเงิน ขยายและปรับปรุงกองทุนการออมแห่งชาติ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพรายได้ของแต่ละอาชีพ และกำหนดเงินประเดิมที่ภาครัฐจะให้เพิ่มอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นของการออม 

กำหนดมาตรการการออมภาคบังคับ เช่น การเก็บภาษีเพื่อการออมร้อยละ ๓ ร่วมกันไปกับภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗ ของมูลค่าที่มีการใช้จ่ายของแต่ละบุคคล นำเงินออมร้อยละ ๓ ร่วมสะสมไว้ในชื่อของแต่ละบุคคล  และเฉลี่ยคืนพร้อมผลตอบแทนให้แก่ผู้จ่ายภาษีการออมเมื่อต้องหยุดทำงานในยามชราภาพ รวมทั้งส่งเสริมการออมทางเลือก เช่น การออมโดยปลูกไม้ยืนต้นและเลี้ยงปศุสัตว์

๓) ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ และขยายอายุการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการทำงานอิสระ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสมัครใจ เนื่องจากคนไทยอายุยืนและสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ควรมีมาตรการจูงใจให้คนไทยมีทักษะความรู้ในการทำงานประเภทอื่น ๆ นอกจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นงานสำรองในยามสูงอายุ และสามารถทำงานโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

๔) ควรมีนโยบายเรื่องการรับคนทำงานที่มีคุณภาพและอยากทำงานในประเทศไทยอย่างถาวร เนื่องจากอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงาน และประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยตามหลังประเทศไทย

๕) สร้างแรงจูงใจให้ผู้พร้อมที่จะมีบุตร ได้มีบุตรอย่างมีคุณภาพ ลดภาระทางเศรษฐกิจ และลดภาระของมารดาในการเลี้ยงดูบุตรโดยให้บิดามีส่วนร่วม จัดให้มีสถานเลี้ยงเด็กและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุในตอนกลางวันอยู่ใกล้ที่ทำงาน

๖) กระจายอุตสาหกรรม บริการ และการจ้างงานออกไปยังท้องถิ่น ชุมชนชนบท เพื่อให้มีการจ้างงานในพื้นที่ใกล้ชุมชน ทำให้คนทำงานสามารถอยู่กับครอบครัว และสามารถดูแลบิดา มารดา และบุตรได้

. มิติสภาพแวดล้อม

๑) ปรับสภาพแวดล้อมบ้าน ถนนหนทาง การเดินทาง อาคารและสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมสำหรับคนทุกวัย ผู้สูงอายุ หนุ่ม สาว เด็ก และคนพิการ ในลักษณะ “อยู่ดี” (Universal Design) โดยให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่แตกต่างกัน

๒) ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิ อาสาสมัครกู้ภัย และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องออกแบบ โยธาและงานช่าง ได้ประสานองค์ความรู้เพื่อให้เกิดจิตอาสาร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นปรับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของตน

๓) จัดตั้ง “ศูนย์อยู่ดี” ในทุกอำเภอ โดยใช้โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนหรือมีนักเรียนน้อย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบปรับสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย จัดให้มีอุปกรณ์พื้นบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม สำรวจความจำเป็นและกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อม

นอกจากนี้ “ศูนย์อยู่ดี” อาจใช้ประโยชน์เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ในการเรียนรู้และทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ

๔) ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้ลงทุนแข่งขันผลิตวัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย โดยเน้นใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นวัสดุและเทคโนโลยีพื้นบ้าน

๕) แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับอาคารสาธารณะและอาคารที่อยู่อาศัย ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และทุพพลภาพ สำหรับอาคารที่สร้างก่อนกฎหมายใช้บังคับต้องปรับปรุงอาคารให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ปี นอกจากนี้ ธุรกิจที่ดำเนินการด้านที่อยู่อาศัยจะต้องจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุอย่างน้อยร้อยละ ๑๐

. มิติสุขภาพ

๑) สร้างมาตรการการให้คนไทยมีสุขภาพดีให้นานที่สุด ลดช่วงเวลาเจ็บป่วยและภาวะพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยลง พึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ใช้หลัก “สร้างนำซ่อม” เตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และพฤติกรรม เช่น การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย การส่งเสริมการออกกำลังกาย การสร้างอารมณ์ที่ดี เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี

๒) สนับสนุนการจัดระบบดูแลระยะกลาง (Intermediate care) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้ว โดยจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพิการ และลดภาระของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด

๓) ขยายระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long term care) ช่วยผู้ที่ประสบภาวะยากลำบากอันเนื่องจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น การประสบอุบัติเหตุ พิการ ตลอดจนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นบริการของสถานพยาบาลที่ให้บริการที่บ้านผู้สูงอายุ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการดูแล

๔) จัดให้มีระบบอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ได้รับการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน และสร้างระบบการดูแลที่บ้านตามตารางระยะเวลาที่เหมาะสมและชัดเจน

๕) ส่งเสริมให้ทุกคนมีแนวคิด “ตายดี” โดยเฉพาะช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต ด้วยการสร้างความรู้ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดชีวิต แต่อาศัยบุคคล ครอบครัวและคนในชุมชนร่วมกันดูแลแทน

. มิติชุมชนสังคม

๑) ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานเพื่อรองรับสังคมคนไทยอายุยืนร่วมกับชุมชน โดยให้มีการรวมตัวของผู้สูงอายุในปัจจุบันและผู้สูงอายุสำรอง

๒) กระจายอำนาจให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้สามารถวางระบบรองรับสังคมคนไทยอายุยืนในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน และสามารถดำเนินงาน ใช้ทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณ

๓) ควรเปิดศูนย์เรียนรู้ร่วมกันของคน ๓ วัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชน ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้โรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนน้อยหรือไม่มีนักเรียน

๔) ส่งเสริมให้พระและผู้นำศาสนา มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสังคมคนไทยอายุยืนที่จะเกิดในอนาคต