สังคมคนไทยอายุยืน: ความจริง วิกฤติการณ์ และข้อแนะนำ

ขณะที่บ้านเมืองของเรากำลังเผชิญกับการคุกคามของโรคระบาดโควิด-19  ประชาชนทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีความอ่อนไหวและเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในอัตราที่สูง

ในอีก 10 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเทียบกับประชากรทั้งประเทศสูงมากถึงร้อยละ 30 คนวัยทำงานจะมีสัดส่วนน้อยลง  เด็กเกิดใหม่ก็ยิ่งมีสัดส่วนน้อย ซึ่งเกิดจากปัญหาครอบครัวที่คนท้องที่ไม่พร้อม” กับ “คนที่พร้อมแต่ไม่ท้อง”

จากสภาพดังกล่าว เมื่อสัดส่วนของประชาชนเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุในอนาคต (ปัจจุบันอายุ 40-60 ปี) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จะต้องเผชิญปัญหาในด้านต่าง ๆ พร้อม ๆ กัน ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ก็จะต้องมีภาระเพิ่มมากขึ้นในการดูแลพ่อ แม่ และอาจมีปู่ ย่า ตา ยาย อีกด้วย จึงทำให้จำนวนและคุณภาพคนวัยทำงาน คนจ่ายภาษีอากรในอนาคตจะมีน้อยลง และอาจสร้างปัญหาความยั่งยืนทางการคลังได้

ราชบัณฑิตยสภาในฐานะองค์กรที่หน้าที่ค้นคว้าวิจัยให้คำแนะนำและคำปรึกษาทางวิชาการนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี เห็นว่าการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น ราชบัณฑิตยสภาควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้องค์กรภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมในการรองรับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ตลอดจนพิจารณาถึงวิธีการบูรณาการนโยบายของรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคือ คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำข้อเสนอแผนแม่บทเรื่องสังคมผู้สูงอายุต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบในมิติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมสูงวัยหรือสังคมผู้สูงอายุในอนาคต  และจัดทำแผนรองรับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนไทยอายุยืนนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ “สังคมคนไทยอายุยืน” ในอนาคต โดยสรุปออกมาเป็นข้อเสนอแผนการสร้างระบบรองรับ “สังคมคนไทยอายุยืน” ประกอบด้วยข้อเสนอแผนรองรับ ๔ มิติ คือ

  1. มิติด้านเศรษฐกิจ
  2. มิติด้านสภาพแวดล้อม
  3. มิติด้านสุขภาพ
  4. มิติด้านชุมชนสังคม

รายละเอียดดังบทสรุปผู้บริหารที่แนบมาด้วยแล้ว

ศาสตราจารย์ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล
นายกราชบัณฑิตยสภา


บทสรุปผู้บริหาร
การสร้างระบบรองรับ “สังคมคนไทยอายุยืน”

สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและหลีกไม่พ้นคือ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคนไทยอายุยืนหรือที่เรียกว่าสังคมสูงวัย โดยคาดว่าใน ๑๕ ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุ (๖๐ ปี ขึ้นไป) จะมีมากถึงร้อยละ ๓๐ ขณะที่สัดส่วนคนวัยทำงานจะลดลง สัดส่วนของเด็กและเยาวชน (๐-๑๔ ปี) ก็จะลดน้อยถอยลงเช่นกัน

คนไทยอายุ ๔๐-๖๐ ปีในปัจจุบันที่จะเป็นผู้สูงอายุในเวลานั้น จะต้องเผชิญปัญหาเป็นอันดับแรก ส่วนคนไทยอายุน้อยกว่า ๔๐ ปีในปัจจุบันจะต้องแบกรับภาระทั้งเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ที่ชราภาพ และต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกด้วย

ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กที่เกิดในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจาก “คนท้องที่ไม่พร้อม” ส่วน “คนพร้อมไม่ท้อง” จึงทำให้จำนวนและคุณภาพคนวัยทำงาน คนจ่ายภาษีอากรในอนาคตจะมีน้อยลง และอาจสร้างปัญหาความยั่งยืนทางการคลังได้

ราชบัณฑิตยสภาจึงมีความเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างระบบเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ “สังคมคนไทยอายุยืน” โดยรองรับ ๔ มิติ ดังนี้

มิติเศรษฐกิจ

  1. ปรับปรุง พัฒนาระบบบำนาญและระบบสวัสดิการ  โดยเฉพาะระบบประกันสังคมให้มีความยั่งยืนในอนาคต  ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงระยะยาวที่นำเงินของผู้ทำงานที่จ่ายสะสมมารวมกัน  ในอนาคตเมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ผู้รับประโยชน์จากกองทุนจะมีจำนวนมาก  แต่ผู้จ่ายเข้ากองทุนจะมีจำนวนน้อย
    การแยกบัญชีบำนาญของแต่ละบุคคลออกจากกัน จะสร้างแรงจูงใจในการออมของคนทำงานแต่ละบุคคล 
  2. สร้างมาตรการส่งเสริมการออม ความรู้ความเข้าใจในการบริหารเงิน วินัยการเงิน ขยายและปรับปรุงกองทุนการออมแห่งชาติ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพรายได้ของแต่ละอาชีพ และกำหนดเงินประเดิมที่ภาครัฐจะให้เพิ่มอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นของการออม 
    กำหนดมาตรการการออมภาคบังคับ เช่น การเก็บภาษีเพื่อการออมร้อยละ ๓ ร่วมกันไปกับภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗ ของมูลค่าที่มีการใช้จ่ายของแต่ละบุคคล นำเงินออมร้อยละ ๓ ร่วมสะสมไว้ในชื่อของแต่ละบุคคล  และเฉลี่ยคืนพร้อมผลตอบแทนให้แก่ผู้จ่ายภาษีการออมเมื่อต้องหยุดทำงานในยามชราภาพ รวมทั้งส่งเสริมการออมทางเลือก เช่น การออมโดยปลูกไม้ยืนต้นและเลี้ยงปศุสัตว์
  3. ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ และขยายอายุการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการทำงานอิสระ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสมัครใจ เนื่องจากคนไทยอายุยืนและสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ควรมีมาตรการจูงใจให้คนไทยมีทักษะความรู้ในการทำงานประเภทอื่น ๆ นอกจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นงานสำรองในยามสูงอายุ และสามารถทำงานโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ควรมีนโยบายเรื่องการรับคนทำงานที่มีคุณภาพและอยากทำงานในประเทศไทยอย่างถาวร เนื่องจากอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงาน และประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยตามหลังประเทศไทย
  5. สร้างแรงจูงใจให้ผู้พร้อมที่จะมีบุตร ได้มีบุตรอย่างมีคุณภาพ ลดภาระทางเศรษฐกิจ และลดภาระของมารดาในการเลี้ยงดูบุตรโดยให้บิดามีส่วนร่วม จัดให้มีสถานเลี้ยงเด็กและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุในตอนกลางวันอยู่ใกล้ที่ทำงาน
  6. กระจายอุตสาหกรรม บริการ และการจ้างงานออกไปยังท้องถิ่น ชุมชนชนบท เพื่อให้มีการจ้างงานในพื้นที่ใกล้ชุมชน ทำให้คนทำงานสามารถอยู่กับครอบครัว และสามารถดูแลบิดา มารดา และบุตรได้

มิติสภาพแวดล้อม

  1. ปรับสภาพแวดล้อมบ้าน ถนนหนทาง การเดินทาง อาคารและสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมสำหรับคนทุกวัย ผู้สูงอายุ หนุ่ม สาว เด็ก และคนพิการ ในลักษณะ “อยู่ดี” (Universal Design) โดยให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่แตกต่างกัน
  2. ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิ อาสาสมัครกู้ภัย และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องออกแบบ โยธาและงานช่าง ได้ประสานองค์ความรู้เพื่อให้เกิดจิตอาสาร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นปรับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของตน
  3. จัดตั้ง “ศูนย์อยู่ดี” ในทุกอำเภอ โดยใช้โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนหรือมีนักเรียนน้อย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบปรับสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย จัดให้มีอุปกรณ์พื้นบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม สำรวจความจำเป็นและกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อม
    นอกจากนี้ “ศูนย์อยู่ดี” อาจใช้ประโยชน์เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ในการเรียนรู้และทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ
  4. ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้ลงทุนแข่งขันผลิตวัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย โดยเน้นใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นวัสดุและเทคโนโลยีพื้นบ้าน
  5. แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับอาคารสาธารณะและอาคารที่อยู่อาศัย ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และทุพพลภาพ สำหรับอาคารที่สร้างก่อนกฎหมายใช้บังคับต้องปรับปรุงอาคารให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ปี นอกจากนี้ ธุรกิจที่ดำเนินการด้านที่อยู่อาศัยจะต้องจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุอย่างน้อยร้อยละ ๑๐

มิติสุขภาพ

  1. สร้างมาตรการการให้คนไทยมีสุขภาพดีให้นานที่สุด ลดช่วงเวลาเจ็บป่วยและภาวะพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยลง พึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ใช้หลัก “สร้างนำซ่อม” เตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และพฤติกรรม เช่น การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย การส่งเสริมการออกกำลังกาย การสร้างอารมณ์ที่ดี เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี
  2. สนับสนุนการจัดระบบดูแลระยะกลาง (Intermediate care) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้ว โดยจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพิการ และลดภาระของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด
  3. ขยายระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long term care) ช่วยผู้ที่ประสบภาวะยากลำบากอันเนื่องจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น การประสบอุบัติเหตุ พิการ ตลอดจนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นบริการของสถานพยาบาลที่ให้บริการที่บ้านผู้สูงอายุ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการดูแล
  4. จัดให้มีระบบอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ได้รับการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน และสร้างระบบการดูแลที่บ้านตามตารางระยะเวลาที่เหมาะสมและชัดเจน
  5. ส่งเสริมให้ทุกคนมีแนวคิด “ตายดี” โดยเฉพาะช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต ด้วยการสร้างความรู้ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดชีวิต แต่อาศัยบุคคล ครอบครัวและคนในชุมชนร่วมกันดูแลแทน

มิติชุมชนสังคม

  1. ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานเพื่อรองรับสังคมคนไทยอายุยืนร่วมกับชุมชน โดยให้มีการรวมตัวของผู้สูงอายุในปัจจุบันและผู้สูงอายุสำรอง
  2. กระจายอำนาจให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้สามารถวางระบบรองรับสังคมคนไทยอายุยืนในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน และสามารถดำเนินงาน ใช้ทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณ
  3. ควรเปิดศูนย์เรียนรู้ร่วมกันของคน ๓ วัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชน ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้โรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนน้อยหรือไม่มีนักเรียน
  4. ส่งเสริมให้พระและผู้นำศาสนา มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสังคมคนไทยอายุยืนที่จะเกิดในอนาคต