การป้องกันอาชญากรรมออนไลน์
การบรรยายให้ความรู้ในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคมครั้งที่ ๔ เรื่อง การป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ ปัจจุบันการเกิดเหตุอาชญากรรมออนไลน์ เฉพาะที่ได้รับแจ้งผ่านการรับแจ้งความออนไลน์มีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๑,๐๐๐ คดี รูปแบบและวิวัฒนาการของการหลอกลวงมีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีการสื่อสาร ในอดีตใช้รูปแบบการหลอกลวงแบบเผชิญหน้า ต่อมาพัฒนาเป็นการหลอกลวงผ่านการสื่อสารแบบมีสาย (โทรศัพท์บ้าน) ต่อด้วยการหลอกลวงแบบไร้สาย (โทรศัพท์เคลื่อนที่) เป็นลำดับ จนพัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินหรือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของธนาคาร ที่มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการก่อเหตุอาชญากรรม ประชาชนผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงทางอาชญากรรมออนไลน์เปรียบเสมือน “ปลา” ที่มิจฉาชีพใช้ “เหยื่อ” ก็คือกลอุบายต่าง ๆ มาหลอกล่อให้ปลากินเหยื่อและติดเบ็ด โดยใช้วิธีการสื่อสารที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ส่งไปถึงประชาชนผู้เสียหายให้หลงเชื่อได้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่สำคัญคือ ทางตา และทางหู โดยทางตา มิจฉาชีพจะทำให้เห็นว่าเป็นเอกสารจริง เช่น ทำหนังสือปลอม หมายเรียกปลอม หรือมีเจ้าหน้าที่จริง โดยแต่งตัวด้วยเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ ส่วนทางหู มิจฉาชีพจะทำเสียงรอบข้างให้เหมือนจริง เช่น เสียงวิทยุตำรวจ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศว่ากำลังสนทนากับตำรวจจริง ซึ่งทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และหลงเชื่อได้ง่าย เรียกรวมวิธีการเหล่านี้ว่า “กับดักการตลาด” ธุรกิจและสิ่งของทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ […]