เบื้องหลังการบัญญัติศัพท์คำว่า New normal

  1. ผมเคยคิดที่จะบัญญัติศัพท์คำว่า New normal ว่า บรรทัดฐานใหม่
  2. แต่ผมเปลี่ยนใจ เมื่อได้ศึกษาความหมายและความแตกต่าง ของคำว่า Normal และ Norm
    “ผู้ชายเดทกับผู้ชายเป็นเรื่องปรกติ ที่เรียก Normal แต่ไม่ใช่ Norm”
    ผมจึงคิดว่า “บรรทัดฐานใหม่” น่าจะเหมาะกับ New norm มากกว่า New normal
  3. คำว่า New normal จะบัญญัติว่าอะไรดี คำนี้เป็นภาษาอังกฤษ จึงต้องไปดูความหมายใน Oxford Dictionary ซึ่งให้คำจำกัดความว่า
    “A previously unfamiliar or typical situation that has been standard, usual or expected”.
    หมายถึง สถานการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่แต่เดิมเป็นสิ่งที่ไม่ปรกติ ผู้คนไม่คุ้นเคย ไม่ใช่มาตรฐาน ต่อมามีเหตุหรือวิกฤตบางอย่างทำให้มีการเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้สถานการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ปรกติและเป็นมาตรฐาน
    คนไทยใช้ New normal อย่างแพร่หลาย ในขณะที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมักหมายถึง พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดีมีการใช้ New normal ทั้งในการเปลี่ยนแปลงของ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ New normal จึงมีความหมายเป็นพลวัต และใช้ได้ในหลายบริบท
    คณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ได้บัญญัติคำนี้ไว้แล้วว่า ความปรกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งให้ความหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่สามารถนำไปใช้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นเช่นด้านเศรษฐกิจและการเมืองหรือภูมิอากาศ ที่มีตัวอย่างในพจนานุกรมภาษาอังกฤษได้
    คณะกรรมการจึงมีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “นิวนอร์มัล” ซึ่งจะใช้ได้ในทุกบริบทและสื่อความหมายได้ดีกว่า
  4. ในการบัญญัติศัพท์ที่มา จากภาษาต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยควรที่จะใช้คำภาษาไทยก่อน จะพิจารณา เขียนทับศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นลำดับสุดท้ายโดยใช้ เฉพาะที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
    ผมจึงต้องชี้แจงให้ทราบถึงความจำเป็นในการที่จะต้องเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า New normal เพื่อให้ทราบถึงที่มาที่ไป
  5. การบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตมีวัตถุประสงค์ให้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงเลือกคำที่เข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อน ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีก

ศ.นพ. สุรพล อิสรไกรศีล
นายกราชบัณฑิตยสภา