ราชบัณฑิต’ ยุคใหม่ กับ ‘ศัพท์บัญญัติ’ ดิสรัปชัน
กรุงเทพธุรกิจ 7 กค 63 6 กรกฎาคม 2563 | โดย ปริญญา ชาวสมุน จะทับศัพท์หรือบัญญัติศัพท์ใหม่ ในยุคที่โลกหมุนไว “ราชบัณฑิต” ไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันภาษาที่เปลี่ยนเร็วกว่า 5G มองเป็นพลวัตทางภาษาก็ได้ หรือจะนิยามว่าเป็นการดิสรัปชันของยุคสมัยก็ไม่ผิด กับการใช้ศัพท์ใหม่ซึ่งเปลี่ยนไปแบบติดสปีดของคนยุคนี้ที่การเลื่อนไหลจากภาษาต่างประเทศเข้ามาผสมภาษาไทย ผลิดอกออกผลเป็นคำทับศัพท์บ้าง คำแสลงบ้าง จนระบบนิเวศภาษาบ้านเราหลากหลายและซับซ้อนขึ้นทุกทีๆ ขณะที่ศัพท์แสงเกิดใหม่กลายเป็นคำติดปาก แทบทุกวันจะเกิดคำศัพท์แปลกตาให้เห็นบนโซเชียลมีเดีย แล้วค่อยๆ แทรกซึมจนมีคนใช้กันแพร่หลาย ศัพท์เหล่านี้มักถูกนิยามขึ้นจากสื่อ จากคนดัง หรือแม้กระทั่งจากประชาชนคนธรรมดา ทว่าอีกฟากคือ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สถาบันที่มีหนึ่งในพันธกิจบัญญัติศัพท์ในภาษาไทยให้เป็นไปตามหลักการและเป็นระบบ ศัพท์…ขาหลอก ถึงบทบาท ‘บัญญัติศัพท์’ ของราชบัณฑิตยสภาจะเป็นไปตามมาตรา 8 วงเล็บ 6 ของพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 ระบุว่าให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีอำนาจหน้าที่ ดําเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทยและงานวิชาการอื่นๆ ทว่า คำศัพท์แปลกประหลาดที่ไร้ที่มาก็มักจะโผล่ขึ้นกลางโซเชียลมีเดีย แล้วเข้าอีหรอบ ‘ข่าวลือไปไวกว่าไฟลามทุ่ง’ จนราชบัณฑิตยสภาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวตลก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุรพล […]