การบรรยายให้ความรู้ในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคมครั้งที่ ๔ เรื่อง การป้องกันอาชญากรรมออนไลน์
ปัจจุบันการเกิดเหตุอาชญากรรมออนไลน์ เฉพาะที่ได้รับแจ้งผ่านการรับแจ้งความออนไลน์มีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๑,๐๐๐ คดี
รูปแบบและวิวัฒนาการของการหลอกลวงมีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีการสื่อสาร ในอดีตใช้รูปแบบการหลอกลวงแบบเผชิญหน้า ต่อมาพัฒนาเป็นการหลอกลวงผ่านการสื่อสารแบบมีสาย (โทรศัพท์บ้าน) ต่อด้วยการหลอกลวงแบบไร้สาย (โทรศัพท์เคลื่อนที่) เป็นลำดับ จนพัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินหรือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของธนาคาร ที่มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการก่อเหตุอาชญากรรม
ประชาชนผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงทางอาชญากรรมออนไลน์เปรียบเสมือน “ปลา” ที่มิจฉาชีพใช้ “เหยื่อ” ก็คือกลอุบายต่าง ๆ มาหลอกล่อให้ปลากินเหยื่อและติดเบ็ด โดยใช้วิธีการสื่อสารที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ส่งไปถึงประชาชนผู้เสียหายให้หลงเชื่อได้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่สำคัญคือ ทางตา และทางหู โดยทางตา มิจฉาชีพจะทำให้เห็นว่าเป็นเอกสารจริง เช่น ทำหนังสือปลอม หมายเรียกปลอม หรือมีเจ้าหน้าที่จริง โดยแต่งตัวด้วยเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ ส่วนทางหู มิจฉาชีพจะทำเสียงรอบข้างให้เหมือนจริง เช่น เสียงวิทยุตำรวจ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศว่ากำลังสนทนากับตำรวจจริง ซึ่งทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และหลงเชื่อได้ง่าย เรียกรวมวิธีการเหล่านี้ว่า “กับดักการตลาด”
ธุรกิจและสิ่งของทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เกิดขึ้นจากความกลัวของมนุษย์ รวมถึงการหลอกลวงของมิจฉาชีพด้วย เช่น หลอดไฟ มนุษย์สร้างขึ้นเพราะ “กลัวความมืด” รถยนต์ สร้างขึ้นเพราะ “กลัวไม่สะดวก” แอร์ สร้างขึ้นเพราะ “กลัวความร้อน” เช่นกันมิจฉาชีพจึงใช้ความกลัวของมนุษย์นี้มาดำเนินอาชญากรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีหลอกให้รัก หรือโรแมนซ์สแกม ผู้เสียหายโอนเงินให้มิจฉาชีพเพราะ “กลัวไม่รัก” หรือ “กลัวไม่ได้สิ่งของที่มิจฉาชีพแอบอ้างว่าส่งมาให้” เช่นเดียวกับคดีหลอกขายสินค้า ผู้เสียหายโอนเงินให้มิจฉาชีพเพราะ “กลัวไม่ได้สินค้าหรือของ” หรือคดีหลอกให้กู้เงิน ผู้เสียหายโอนเงินก็เพราะ “กลัวไม่ได้รับอนุมัติให้กู้เงิน” รวมถึงคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ว่าพัวพันกับคดียาเสพติดหรือฟอกเงิน ที่ผู้เสียหายโอนเงินก็เพราะ “กลัวถูกดำเนินคดี” เป็นต้น
กิจกรรมหรืออาชญากรรมเหล่านี้เรียกรวมว่า “ธุรกิจค้าความกลัว” ซึ่งประชาชนสามารถป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้ด้วยตนเอง วิธีป้องกันนี้ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ สรุปคือ อย่าเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องใด ให้มีสติสัมปชัญญะและใช้วิจารณญาณในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ก่อนที่จะเชื่อ นอกจากจะมีสติสัมปชัญญะแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวเรานั้นมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมออนไลน์ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Cyber Check ที่ใช้ในระบบแอนดรอยด์ เพื่อตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัญชี และข้อความแบบอัตโนมัติ เสมือนการส่งสัญญาณควันของชาวอินเดียนแดง บอกให้ผู้คนที่ใช้แอปพลิเคชันนี้ ให้ทราบว่า หมายเลขบัญชีโทรศัพท์ หรือข้อความใด ที่ไม่ปลอดภัยหรือได้รับการยืนยันตัวตนแล้ว เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นผู้เสียหาย เพราะหากคนร้ายได้รับเงินโอนจากผู้เสียหาย โดยกระบวนโอนเงินรวดเร็วและใช้เวลาเพียงกี่นาที เปรียบเหมือนคนร้ายนั้นขับเครื่องบิน แต่การไล่ติดตามเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการติดตามและสืบหา เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่ขี่จักรยาน จึงไม่มีทางที่เราจะขี่จักรยานไล่ตามเครื่องบินได้ทัน ฉะนั้นเราจึงควรระมัดระวังมนุษย์ด้วยกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกเพียงชนิดเดียวที่มีเจตนาที่ ๒ และเจตนาที่ ๓ ทั้งนี้ หากสามารถจัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้การเอาตัวรอดเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม หรือทดแทนจากวิชาดำรงชีพในป่า (หุงข้าว ทำกับข้าว) ที่สอนในวิชาลูกเสือและเนตรนารี เป็น “วิชาดำรงชีพบนโลกออนไลน์” ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ถูกหลอกได้ง่ายในอาชญากรรมออนไลน์ได้
พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม
ผู้บรรยาย