สถานการณ์ฝุ่น PM2.5

วันนี้ (๒๔ ม.ค. ๖๓) เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ ห้องประชุม ๔๐๑-๔๐๒ กองวิทยาศาสตร์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานแถลงข่าวให้ความรู้เรื่อง “สถานการณ์ฝุ่น PM2.5” เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลและสถานการณ์ภาวะมลพิษ ฝุ่น PM2.5 ในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๓ ในประเทศไทย รวมถึงการเสนอมาตรการที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นสพ.ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิต ดร.อัษฎาพร ไกรพานนท์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ราชบัณฑิต ร่วมแถลง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

จากผลการศึกษาของโครงการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับปัญหามลพิษอากาศ PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พบว่าลักษณะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและปัญหามลพิษอากาศ PM2.5 ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑-๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้จะไม่พบความผิดปรกติของปรากฎการณ์ฝาชีอากาศผกผันคู่เหมือนในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (๒๕๖๒) ที่ทำให้ค่ามลพิษอากาศ PM2.5 ของปีที่แล้วมีความรุนแรงสูงผิดปรกติต่อเนื่องทั้งเดือน โดยในช่วงเวลานี้พบเพียงลักษณะอากาศซึ่งเกิดจากผลกระทบของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย โดยค่า IOD (Indian Ocean Dipole) เป็นบวก (+) ส่วนผลกระทบของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณแปซิฟิกมีค่า ENSO (El Nino Southern Oscillation) เป็นกลางนั้นจะส่งผลให้ประเทศไทยในช่วงนี้มีลักษณะภูมิอากาศฝนจะตกน้อยลงมาก ทำให้ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งช่วงนี้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงมีกำลังไม่แรง ลักษณะอากาศแบบนี้ทำให้ในชั้นบรรยากาศตอนบนพบชั้นอากาศผกผันเบาบางในระดับความสูงที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ฟุต ดังนั้นมลพิษอากาศและฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดในเมืองยังสามารถลอยตัวสูงขึ้นได้ สถานการณ์มลพิษอากาศ PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันที่ ๕-๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และวันที่ ๑๘-๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พบปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าระดับความรุนแรงเกินค่ามาตรฐานในหลายจุดโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ จากข้อมูลสถานีตรวจวัดมลพิษอากาศของกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร จำนวน ๔๘ สถานี พบว่า ค่าตรวจวัดค่า PM2.5 เฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมงอยู่ที่ ๓๗-๑๐๙ มก./ลบ.ม. (โดยค่ามาตรฐานไม่เกิน ๕๐ มก./ลบ.ม.)

สรุปสถานการณ์มลพิษอากาศฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงสัปดาห์นี้ (วันที่ ๒๐-๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓) หากไม่มีความแปรปรวนของลักษณะอากาศที่ผิดปรกติแบบสุดขั้วใด ๆ เกิดขี้นในช่วงเวลานี้ สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับความรุนแรงเกินค่ามาตรฐาน โดยค่า PM2.5 อยู่ที่ประมาณ ๕๐-๗๗ มก./ลบ.ม. โดยเฉพาะในช่วงเช้า ๗.๐๐-๑๐.๐๐ น. อาจจะพบค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดได้และจะลดต่ำลงเนื่องจากอากาศและฝุ่น PM2.5 สามารถลอยตัวสูงขึ้นไปสะสมที่ชั้นอากาศผกผันเบาบางในระดับความสูงที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ฟุต ต่อไป แต่ในบางวันอาจจะมีค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วง ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. มีค่าสูงไม่ลดลงเนื่องจากมีลมตะวันออก-ตะวันออกเฉียงเหนือพัดฝุ่นเข้ามาเพิ่มขึ้นจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และจะมีลมตะวันตกเฉียงใต้-ใต้ พัดเข้าสู่บริเวณกรุงเทพมหานครในวันที่ ๒๕-๒๖ มกราคมนี้ ทำให้ปัญหาฝุ่นในบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครคงลดความเข้มข้นลงเข้าสู่ระดับน้อยกว่า ๕๐ มก./ลบ.ม. แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทวีความรุนแรงมากขึ้นอยู่ที่ประมาณ ๕๐-๗๐ มก./ลบ.ม. โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น ขอนแก่น

มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาล ควรดำเนินการทันที

๑. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจปัญหาและกลไกการเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในขณะนี้ และแนะนำมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลปัญหาสุขภาพเบื้องต้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยวิกฤติ
๒. ต้องเริ่มมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่แหล่งกำเนิด ไม่ควรให้ปัญหาฝุ่นอยู่ในขั้นวิกฤติแล้วเริ่มแก้ไขเหมือนที่ผ่านมา เช่น จำกัดปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่เข้าเมือง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ปัญหาฝุ่นรุนแรง ๗.๐๐-๑๐.๐๐ น. ออกมาตรการจูงใจให้ประชาชนร่วมมืองดใช้รถยนต์ส่วนตัว เช่น ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสาธารณะ
๓. ควรควบคุมปริมาณรถจักยานยนต์ที่วิ่งในเมือง (แม้ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็ก แต่มักจะไม่มีชุดบำบัดไอเสียที่สันดาปไม่สมบูรณ์ จึงปล่อยมลภาวะจากท่อไอเสียมากพอสมควร) และควรจำกัดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลในเมืองทั้งกรุงเทพและเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ขับเพียงคนเดียวในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง คือ เวลา ๐๖.๐๐-๑๑.๐๐ น. เป็นต้น
๔. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสังคมใด ๆ ควรดำเนินการใช้เป็นวิธีท้าย ๆ เช่น ปิดโรงเรียน ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวัง เพราะจะมีผลต่อการตื่นตระหนกของประชาชนและนักท่องเที่ยว
๕. เร่งการบริหารจัดการปัญหาการเผาวัสดุมวลชีวภาพและเผาขยะในที่โล่งแจ้งอย่างเป็นระบบ เช่น ช่วงที่ปัญหา PM2.5 สูงต้องมีมาตรการเข้มข้นในการห้ามเผาวัสดุมวลชีวภาพและเผาขยะอย่างเด็ดขาด กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะควรมี
การบริหารจัดการการเผาในช่วงเวลาและวันที่เหมาะสม

มาตรการที่รัฐบาล ควรดำเนินการในระยะต่อไป
๑. ต้องหาแนวทางและสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่นำมาใช้ได้จริง ด้านการค้นคว้าหากลไก เฝ้าตรวจติดตามและเฝ้าระวังปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบ รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสังคมล่วงหน้าก่อนภัยจะมา และมีแผนรับมือปรับตัวต่อพิบัติภัยมลพิษอากาศ ลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพทั้งระบบมีความสำคัญมากต่อการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งในระยะสั้นและยาวของประเทศต่อไป
๒. หน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจวัดค่ามลภาวะอากาศและฝุ่น PM2.5 ต้องเร่งติดตั้งเครือข่ายการตรวจวัดค่ามลภาวะอากาศและฝุ่น PM2.5 ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อลดการตื่นตระหนกของประชาชนจากการใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่มีความแม่นยำของข้อมูล
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
๑) รัฐบาลควรบรรจุโครงการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบของประเทศ เข้าสู่โครงการเร่งด่วน (Quickwin) ในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีในทันที
๒) จัดให้มีแผนแม่บทแก้ไขที่เป็นรูปธรรมในระยะยาว และแผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะมาตรการป้องกันและลดมลพิษฝุ่น PM2.5 ของประเทศตั้งแต่แหล่งต้นกำเนิดในทุกมิติและทุกภาคส่วน เช่นภาคการขนส่งและคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคครัวเรือน และการแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน อีกทั้งแก้ปัญหาโดมความร้อนเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ
๓) เร่งการศึกษาวิจัย ค้นคว้าหากลไก เฝ้าตรวจติดตามและเฝ้าระวังปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบ รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสังคมล่วงหน้าก่อนภัยจะมา และมีแผนรับมือปรับตัวต่อพิบัติภัยมลพิษอากาศ ลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งระบบ
๔) รัฐบาลต้องรีบเร่งประกาศให้เครื่องฟอกอากาศเป็นสินค้าควบคุมที่จำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน และลดภาษีทุกประเภทให้เป็นศูนย์ ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงและซื้อได้ในราคาถูก
๕) รัฐควรมีกลไกปฏิบัติงานตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาทันทีสำหรับกรณีเกิดปัญหามลพิษอากาศแบบเร่งด่วนอย่างเป็นระบบ เช่น กรณีมีค่ามลพิษอากาศเกินมาตรฐานไป ๒ เท่าควรทำอย่างไรบ้าง, ๓ เท่าควรทำอย่างไรบ้าง, ๔ เท่าควรทำอย่างไรบ้าง
๖) ควรจะมีนโยบายบังคับให้รถบริการสาธารณะทุกประเภท เช่น รถประจำทาง รถแท็กซี่รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าภายใน ๑๐ ปี
๗) จัดตั้งกองทุนภาษีคาร์บอน เพื่อใช้แก้ไขปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบ
๘) ควรมีกฎหมายบังคับให้ต้องขออนุญาตเผาวัสดุชีวมวลและเผาขยะในที่โล่งแจ้ง ควรยกเลิกการกำจัดขยะด้วยวิธีเตาเผาขยะภายใน ๑๐ ปีทั่วประเทศ
๙) รัฐบาลและภาคประชาชนควรออกมาตรการทางสังคมกับกลุ่มธุรกิจ หรือบริษัท ห้างร้าน ที่มีส่วนในการส่งเสริมการเผาชีวมวลการเกษตรทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค CLMV เช่น เก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากการเผาชีวมวลการเกษตร หรือภาคประชาชนงดซื้อสินค้าเหล่านั้น
บทบาทของราชบัณฑิตยสภาในการแก้ไขปัญหายากของประเทศ

ด้วยสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้เริ่มดำเนินการโครงการอาศรมความคิดใน ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร ด้านสุขภาพ ด้านพลังงาน และด้านระบบโลกศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมกันค้นคว้าวิจัยเชิงนโยบาย ประกอบกับอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังนั้นอาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดให้มีการค้นคว้า วิจัยเชิงนโยบาย ประชุมวิชาการในประเด็นสำคัญของประเทศเป็นประจำ โดยเหตุที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศเกี่ยวข้องกับ PM2.5 อย่างรุนแรง โครงการอาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์ฯ ได้จัดประชุมระดมสมองทุกภาคส่วน เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ PM2.5 ทั้งระบบ ในวันศุกร์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมศรีสุริยวงศ์บอลรูม ชั้น ๑๑ โรงแรมตะวันนา ถนนสุรวงศ์ ซึ่งสามารถสรุปความเห็นและคำปรึกษาเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

โครงการอาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินวางแผนจัดการเสวนาสาธารณะครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เรื่อง “กู้วิกฤตชาติ PM2.5 ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ อาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา และกลุ่มวิจัยโครงการและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๘.๐๐-๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุม ๘๐๑ อาคารจามจุรี ๑๐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายใต้ที่ปรึกษาทางวิชาการของอาศรมความคิดระบบโลกศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิตยสภา ให้กลุ่มนักวิจัยจากสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตรซึ่งได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ National Institute for Environmental Studies (NIES) ประเทศญี่ปุ่น กำลังจะติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่น LIDAR และ sky radiometer ที่ กรุงเทพมหานคร (สถานที่ติดตั้ง จุฬา หรือ TGWA) เพื่อติดตามปัญหาฝุ่น PM2.5 และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทย อีกทั้งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพันธมิตรได้ยื่นเสนอขอทุนวิจัยขนาดใหญ่จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เรื่องการศึกษาวิจัย ค้นคว้าหากลไก เฝ้าตรวจติดตามและเฝ้าระวังปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบ รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยล้วงหน้า (Early Warning System) โดยใช้เครื่องมือที่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ คาดว่าผลที่ได้ในอนาคตจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนและสังคมล่วงหน้าก่อนภัยจะมา และมีแผนรับมือปรับตัวต่อพิบัติภัยมลพิษอากาศ ลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งระบบในอนาคต

previous arrow
next arrow
previous arrownext arrow
Slider