สรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทิศทางและการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา
วันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซสหลานหลวง กรุงเทพมหานคร
ภาคเช้า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หลังจากกล่าวเปิดงานแล้วได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของราชบัณฑิตยสภากับยุทธศาสตร์ชาติ” และ ศ. นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา บรรยายเรื่อง ทิศทางและการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา” จากนั้นแบ่งกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม เพื่อประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “ทิศทางและการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา”
ภาคบ่าย ผู้แทนของแต่ละกลุ่มทั้ง ๓ กลุ่ม รายงานผลการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม จากนั้นนายกราชบัณฑิตยสภากล่าวปิดการประชุม
การปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของราชบัณฑิตยสภากับยุทธศาสตร์ชาติ”
โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
คำว่า “ยุทธศาสตร์” มีความหมายตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่าหมายถึง “วิชาว่าด้วยการพัฒนาและการใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหารตามความจำเป็นทั้งในยามสงบและยามสงคราม” และอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง “ที่มีความสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหารทั้งในยามสงบและยามสงคราม เช่น จุดยุทธศาสตร์” แต่ในความหมายที่ทั่วไปเข้าใจกัน ยุทธศาสตร์ หมายถึง เป้าหมายหรือจุดหมายในอันที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ พูดถึงยุทธศาสตร์ไว้ในมาตรา ๖๕ ว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ขณะนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้ดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้วและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ และในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ และได้มีพระราชโองการประกาศเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๘๒ ก ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑
ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดังนั้น หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ การเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจะมีผลต่อหน่วยงานนั้น ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นเสมือนตำรวจคอยตรวจตราหน่วยงานของรัฐ หากพบการเพิกเฉยละเลย จะมีขั้นตอนการรายงาน ซึ่งไปสิ้นสุดที่หน่วยงาน ปปช. ที่จะใช้อำนาจทางกฎหมายต่อหน่วยงานนั้น ๆ
บทบาทของราชบัณฑิตยสภาต้องดำเนินไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) ทั้ง ๖ ด้าน คือ
- ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
- ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
- ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
- ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
- ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
และสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ (๓) ให้ความเห็น คำแนะนำ และคำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ที่ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกควรต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้นด้วยการเสนอความเห็น คำแนะนำ ไปยังรัฐบาลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ร้องถาม ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติยังมีไม่ถึงรัฐบาล ประเด็นนี้สามารถดำเนินได้โดยผ่านไปจากราชบัณฑิตยสภา และอำนาจหน้าที่ (๔) จัดการศึกษาอบรมและพัฒนาทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาไทยถิ่น และสาขาวิชาตามมาตรา ๑๐ และให้ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตร สัมฤทธิบัตร และวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จ การศึกษาอบรมและพัฒนาทางวิชาการ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับราชบัณฑิตย-สภา ตามอำนาจหน้าที่นี้ ราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินการอยู่แล้ว คือ โครงการจัดปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร เป็นโครงการที่ดี ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เกิดเครือข่าย จึงควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและดำเนินงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี
การบรรยายเรื่อง “ทิศทางและการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา”
โดย ศ. นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา
ในวันนี้มีประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็น ที่จะกล่าวถึง คือ บทบาทของนายกราชบัณฑิตยสภา บทบาทของราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก และบทบาทของราชบัณฑิตยสภา เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาจึงขอเสนอตัวรับใช้ราชบัณฑิตยสภา หลักสำคัญคือ การยึดมั่นในความอาวุโส ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ รวมถึงจริยาวัตรอันงดงามของท่านผู้อาวุโส เมื่อพิจารณาการดำเนินงานขององค์กรประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และราชบัณฑิตยสภา ทั้ง ๒ ส่วนต้องทำงานร่วมกัน ราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบายและสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ราชบัณฑิตยสภาเป็นสถานที่บำรุงสรรพวิชา นโยบายด้านการสร้างองค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ ผลงานของราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกที่ได้สร้างองค์ความรู้ที่ได้ทำในต้นสังกัดของท่านก็ถือว่าเป็นผลงานของราชบัณฑิตยสภาด้วย การสร้างองค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญจึงเป็นที่มาของการคัดเลือกภาคีสมาชิกว่าควรคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและดีที่สุด เพื่อเตรียมเป็นราชบัณฑิตต่อไป ส่วนอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ (๒) การติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสานงานทางวิชาการกับองค์การปราชญ์และสถาบันทางวิชาการอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ (๓) ให้ความเห็น คำแนะนำ และคำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกราชบัณฑิตยสภาโดยตรง
การสร้างองค์ความรู้ในปัจจุบันจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันหลายฝ่าย เป็นลักษณะสหวิชาการ เรื่องสำคัญที่ควรดำเนินการ คือ การสร้างเยาวชนต้นแบบ การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง ลดระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม จำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันสังคม มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น อีก ๑๐ ปี เข้าสู่ยุคสังคมผู้อายุยืน ซึ่งต้องเตรียมการดำเนินการในเรื่องนี้ เรื่องของการฝึกอบรมควรเป็นเรื่องที่สำคัญจริง ๆ เนื่องจากราชบัณฑิตยสภาไม่มีโครงสร้างที่เอื้อต่อการดำเนินงานเท่าใดนัก แต่สามารถดำเนินการเท่าที่สามารถทำได้ ในอนาคตควรมีการพัฒนา พิจารณาของบประมาณขออัตรากำลัง ในเรื่องการดำเนินงานเกี่ยวกับภาษา ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการดำเนินงานหลักที่ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการมาโดยตลอด ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องแบบมีเป้าหมาย มีเงื่อนเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ ในการประชุมกลุ่มย่อยของแต่ละสำนัก ขอให้ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกได้ร่วมกันพิจารณาทิศทางและการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภาตามอำนาจหน้าที่ทั้ง ๑๐ ข้อ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ
การประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง “ทิศทางและการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา”
สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ราชบัณฑิตยสภาควรเพิ่มบทบาทเชิงรุกที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง ๖ ด้าน แผนการปฏิรูปประเทศ ๑๑ ด้าน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๓ ประเด็น โดยพิจารณาประกอบกับอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ และมาตรา ๓๑ ของพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘
จากการวิเคราะห์จุดแข็งของราชบัณฑิตยสภา พบว่า ราชบัณฑิตยสภาเป็นศูนย์รวมของผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ สามารถให้คำแนะนำแก่สังคมได้ โดยอาจเพิ่มบทบาทของราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกให้มีการสังเคราะห์งานวิจัยโดยใช้การวิเคราะห์อภิมาน (meta analysis) การทำการวิจัยเชิงนโยบายโดยบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ของสำนัก หรือราชบัณฑิตยสภา และนำเสนอสู่สาธารณชนอย่างรวดเร็วและทันการณ์
- การส่งเสริมให้มีราชบัณฑิตยสภาดำเนินการเรื่องการจัดฝึกอบรม เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำแก่สังคม
- ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกมีผลงานวิชาการเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ โดยมีงานศึกษาวิจัยรองรับ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรืออาศัยเพียงประสบการณ์เท่านั้น
- การจัดทำแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมกับบุคลากรที่มีอยู่ โดยเรียงลำดับตามความสำคัญและกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ซึ่งต้องพิจารณาโครงสร้างองค์การของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาประกอบกัน
- นอกจากนี้ ควรปฏิรูปการจัดการภายในสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้พร้อมรับบทบาทเชิงรุกของราชบัณฑิตยสภา เช่น การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา การพัฒนาช่องทางการสื่อสารสู่สังคมในเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาหรือได้รับความสนใจ การประชาสัมพันธ์บทบาทขององค์กรต่อสาธารณชน สนับสนุนงบประมาณและบุคลากรเฉพาะงาน
สำนักวิทยาศาสตร์
ทิศทางและแนวทางการดำเนินงานของสำนักวิทยาศาสตร์ มีดังนี้
- จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติเชิงนโยบายด้านวิชาการในระยะ ๕ ปี โดยแบ่งราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกในสำนักวิทยาศาสตร์ เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ ๑ ประเภทวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และประเภทวิชาเทคโนโลยี
กลุ่มที่ ๒ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และประเภทวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรและสัตวแพทยศาสตร์
กลุ่มที่ ๓ ประเภทวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ และประเภทวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ร่วมกับโครงการอาศรมความคิด สำนักวิทยาศาสตร์ ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านอาหาร ด้านสุขภาพ และด้านระบบโลกศาสตร์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในการระดมความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อใช้ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริง เสนอที่ประชุมสำนักวิทยาศาสตร์พิจารณา และนำเสนอนายกราชบัณฑิตยสภาพิจารณาต่อไป - เสริมสร้างเครือข่ายทางวิชาการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และบูรณาการให้เกิดการพัฒนาความรู้ที่สามารถเป็นแปล่งอ้างอิงทางวิชาการ โดยอาศัยเครือข่ายทางวิชาการของราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกแต่ละท่านเป็นฐานในการสร้างเครือข่ายทางวิชาการของประเทศ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของราชบัณฑิตยสภาในการเป็นสถาบันหลักของเครือข่ายทางปัญญาแห่งชาติ และเป็นองค์การพัฒนาความรู้ที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ
สำนักศิลปกรรม
ราชบัณฑิตยสภาต้องดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๘ โดยมีทิศทางและการดำเนินงาน ดังนี้
- กำหนดแผนการดำเนินงาน ช่วงแรกคือ ๓ ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (๒๕๖๐-๒๕๖๔)
- ราชบัณฑิตยสภาต้องปรับบทบาทและภาพลักษณ์ให้รัฐและประชาชนได้รู้จักได้เข้าใจยิ่งขึ้น
- สำนักศิลปกรรม มีองค์ความรู้ใน ๔ กลุ่มหลัก คือ วรรณศิลป์ สถาปัตยศิลป์ วิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ ซึ่งสามารถสร้างสรรค์งานในเชิงบูรณาการได้
- ปัจจุบันเป็นยุค Social Media ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะในการใช้สื่อเพื่อการพัฒนางานของราชบัณฑิตยสภาสาขาต่าง ๆ
- โครงการจัดปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร เป็นโครงการนำความรู้ไปสู่ผู้ที่ต้องการรับสารที่อยู่ห่างไกล และเป็นการสื่อสารสองทาง มีการอบรมเฉพาะทางเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างต้นแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งครู จัดให้มีการปาฐกถาสาธารณะ เพื่อมีปฏิสัมพันธ์ในประเด็นที่เป็นเรื่องเฉพาะกิจและเป็นปัญหาที่น่าสนใจเฉพาะกรณี กระดิ่งในโครงการต่าง ๆ ที่สำนักศิลปกรรมได้กำหนดขึ้นและออกปฏิบัติการจะต้องมีตัวกำหนดในการประเมินผลลัพธ์ในระดับต่าง ๆ เช่น เพื่อทราบ เพื่อพิจารณา เพื่อตัดสินใจยอมรับ เพื่อทดลองปฏิบัติ เพื่อปฏิบัติอย่างถาวร และเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ
- โครงการจัดปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร มีรูปแบบที่น่าสนใจที่ควรขยายผลเป็นโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงได้ดังนี้ คือ ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ส่งไปยังผู้ที่ดำเนินการให้เกิดการประชุมสื่อสาร แลกเปลี่ยน สอบถาม ซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อ องค์การสื่อ สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาชีพเฉพาะทาง สมาคมวิชาชีพเฉพาะทาง กลุ่มความสนใจเฉพาะทาง ศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะทำหน้าที่จัดการให้เกิดมีการประชุม สัมมนา ประชุมปฏิบัติการ ผู้รับเป้าหมายควรเป็น ครู เพราะครูจะเป็นผู้นำความรู้ ความชำนาญ และอุดมการณ์ต่าง ๆ ไปสู่เยาวชน
- การสร้างเครือข่ายกับองค์กร สถาบัน ทางภาษาและวรรณกรรม สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
- ต้องจัดระบบประเมินผลตรวจสอบ ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ที่ดำเนินงาน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนผู้รับบริการ จำนวนครั้งที่ปฏิบัติ และค่าลงทุนต่อหน่วยว่าเมื่อคำนวณแล้วมีจุดคุ้มทุนหรือมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจเพียงใด
- การเผยแพร่ผลงานวิชาการของราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกทางสื่อออนไลน์ เช่น นำบทความที่บรรยายในการประชุมสำนักเผยแพร่ทางเว็บไซต์ การออกอากาศสด การอัดรายการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ WWW.YouTube.com การจัดทำ E-book ที่สามารถทำได้โดยการจัดจ้างบุคคลภายนอก หรือให้บริษัท ookbee. หรือ Meb. เช่ากรรมสิทธิ์จัดทำเพื่อจำหน่าย
- หน้าที่สำคัญของราชบัณฑิตยสภา คือ มีหน้าที่ดูแลภาษาของชาติ จึงควรเร่งดำเนินการให้รัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบจัดการแก้ปัญหาภาษาไทยในที่สาธารณะเป็นการเร่งด่วน เพื่อรักษาเอกราชทางภาษาของชาติ
ผู้สรุป : นางสาวกระลำภักษ์ แพรกทอง
นางสาวจินดารัตน์ โพธิ์นอก
นายญาณัฏฐ์ ไทรงาม
นางสาวพจมาน เชยเดช
นางสาวอารยา ถิรมงคลจิต
นางสาวอรวรรณ ภิรมจิตรผ่อง
ผู้พิมพ์ : นางสาวนันทนา แสนสุข