ประวัติความเป็นมา ราชบัณฑิตสภา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้จัดตั้ง “ราชบัณฑิตยสภา” ขึ้น ทรงเห็นสมควรฟื้นฟูกิจการของ กรมราชบัณฑิตย์ ซึ่งมีมาแต่โบราณและเป็นตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีความรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ สภาผู้แทนราษฎร ได้ถวายคำปรึกษาแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมควรจัดตั้งราชบัณฑิตยสถานให้มีสมาชิกผู้ประกอบด้วยคุณวิชา สมควรจะได้เลือกตั้งเป็นราชบัณฑิตในภายหน้าเพื่อกระทำการค้นคว้าหาความรู้นำมาเผยแพร่แก่ประชาชนและสร้างตำรับตำราให้แพร่หลายต่อไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และให้ยกเลิกประกาศตั้งราชบัณฑิตยสภา ฉบับลงวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙

เริ่มแรกที่ตั้งราชบัณฑิตยสถานนั้น ยังไม่มีราชบัณฑิต มีแต่ภาคีสมาชิก ซึ่งจัดการประชุมครั้งแรกขึ้น ณ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ ภายหลังมีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งราชบัณฑิตเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ จำนวน ๕๑ คน

งานสำคัญในช่วงแรกเกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กประจำปี ที่ราชบัณฑิตยสถานดำเนินการสืบเนื่องมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๗ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีงานหลักอีก ๕ งาน ได้แก่ งานชำระพจนานุกรม ซึ่งเดิมคืองานชำระปทานุกรมที่รับโอนจากกระทรวงธรรมการมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๗ งานสารานุกรม งานบัญญัติศัพท์ภาษาไทย งานอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ และงานจัดทำหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน

ที่ทำการของราชบัณฑิตยสถานแรกเริ่มได้ใช้ตำหนักสมเด็จชั้นบน ณ วังบางขุนพรหม ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุ หรืออาคารหอสมุดวชิราวุธด้านทิศเหนือ ถนนหน้าพระธาตุ จนถึงพุทธศักราช ๒๕๓๑ จากนั้นย้ายไปใช้อาคารราชวัลลภ ในพระบรมมหาราชวัง จนถึงพุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้ย้ายมาอยู่ที่สนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงานของราชบัณฑิตยสถาน แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนสภาราชบัณฑิตและส่วนข้าราชการประจำ

สภาราชบัณฑิตทำหน้าที่วางนโยบายในการดำเนินงานด้านวิชาการ ประกอบด้วยกรรมการสภา ซึ่งเป็นราชบัณฑิตจาก ๓ สำนัก ได้แก่

มีนายกราชบัณฑิตยสถาน เป็นนายกสภา อุปนายกราชบัณฑิตยสถานเป็นอุปนายกสภา มีเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานทำหน้าที่เลขานุการสภา และรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการสภา

ส่วนข้าราชการประจำ มีเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เป็นหัวหน้าส่วนราชการ และมีรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ช่วยปฏิบัติราชการ กำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านวิชาการและงานธุรการของสำนักงานเลขานุการกรม กองธรรมศาสตร์และการเมือง กองวิทยาศาสตร์ และกองศิลปกรรม รวมทั้งประสานการดำเนินงานกับทุกสำนัก

การดำเนินงานด้านวิชาการ ดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการวิชาการ เพื่อจัดประชุมพิจารณาศัพท์ บัญญัติศัพท์ จัดทำคำอธิบายศัพท์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ทางภาษา แล้วนำผลงานซึ่งเป็นองค์ความรู้เผยแพร่สู่ประชาชนในช่องต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง และมีการรับฟังความความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงการให้การบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ราชบัณฑิตยสถานได้ดำเนินงานตามพันธกิจในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และบำรุงสรรพวิชามาอย่างต่อเนื่อง ผลงานทางวิชาการของราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและเป็นมาตรฐานในการเขียนหนังสือไทย ทั้งหนังสือราชการและในการศึกษาเล่าเรียน ให้เป็นระเบียบเดียวกัน คือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ในปี ๒๕๕๖ ราชบัณฑิตยสภาโดยสภาราชบัณฑิตเห็นเป็นการสมควรเปลี่ยนชื่อ “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็น “ราชบัณฑิตยสภา” อันเป็นชื่อเดิมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาส ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพ รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่และการบริหารงานวิชาการของราชบัณฑิตยสภาให้แพร่หลายแก่วงวิชาการของประเทศและประชาชนทั่วไปมากขึ้น ประกอบกับให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสมาชิกราชบัณฑิตยสภาเพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิกราชบัณฑิตยสภา และกำหนดให้รายได้ที่ราชบัณฑิตยสภาได้รับจากการบริหารทางด้านวิชาการและการจัดการศึกษาอบรมสามารถนำไปจ่ายในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารงานวิชาการมากขึ้น

ในปี ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่าเป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐ ก ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ชื่อหน่วยงาน “ราชบัณฑิตยสถาน” จึงเปลี่ยนเป็น “สำนักงานราชบัณฑิตยสภา” และ “สภาราชบัณฑิต” จึงเปลี่ยนเป็น “ราชบัณฑิตยสภา”

ภาพ ราชบัณฑิตยสถาน ประกอบเว็บไซต์ www.royin.go.th ในอดีต

มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ ระบุว่าราชบัณฑิตยสภาเป็นสถานที่บำรุงสรรพวิชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะค้นคว้าและวิจัยเพื่อเผยแพร่ส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนา อนุรักษ์ และให้บริการทางวิชาการให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน มาตรา ๑๒ ราชบัณฑิตยสภามีสมาชิก ๓ ประเภท คือ

  1. ภาคีสมาชิก
  2. ราชบัณฑิต
  3. ราชบัณฑิตกิตติศักดิ์

และมาตรา ๒๔ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้มีสภาขึ้นในสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรียกว่า “ราชบัณฑิตยสภา” ประกอบด้วยนายกราชบัณฑิตยสภา เป็นนายกสภา อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ๒ คน เป็นอุปนายกสภา ราชบัณฑิตทุกคนเป็นกรรมการสภา โดยมีเลขาธิการราชบัณฑิตยสภาทำหน้าที่เลขานุการสภา และรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภาทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการสภา

ราชบัณฑิตยสภามีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการดำเนินงานด้านวิชาการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกข้อบังคับ และระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา เลือกนายกราชบัณฑิตยสภา อุปนายกราชบัณฑิตยสภา รวมทั้งมีมติให้ความเห็นชอบในการเสนอแต่งตั้งราชบัณฑิตและราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

หน้าที่ภารกิจและบทบาทสำคัญของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา อันได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ การกำหนดมาตรฐานการใช้ภาษาไทย และการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชน ได้ดำเนินการและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา ๙๐ ปี แห่งการสถาปนาราชบัณฑิตยสภา นับตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ จนถึงปัจจุบัน