Site icon ราชบัณฑิตยสภา

ท่องเที่ยวไทย : อานิสงส์ถ้วนหน้า

การบรรยายให้ความรู้ในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคมครั้งที่ ๓ เรื่อง ท่องเที่ยวไทย : อานิสงส์ถ้วนหน้า

ขอเชิญร่วมฟังการบรรยายให้ความรู้ในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคมครั้งที่ ๓ เรื่อง ท่องเที่ยวไทย : อานิสงส์ถ้วนหน้า โดย ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ภาคีสมาชิก สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ประเภทวิชาสังคมศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการบรรยายได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom และ Facebook Live สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในวันพุธที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ น.-๑๒.๐๐ น.


บทคัดย่อ

ท่องเที่ยว : อานิสงส์ถ้วนหน้า

นำเสนอในการประชุมภายใต้โครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคม ครั้งที่

วันพุธที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗

มิ่งสรรพ์  ขาวสอาด
ภาคีราชบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์
สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

หลังจากโควิด ๑๙ สงบลงและเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยก็กลายเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยตัวเดียวที่ทำงานอยู่อย่างเข้มแข็ง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมแสดงอาการอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ และภาคเกษตรก็ประสบกับภัยธรรมชาติ การศึกษาสถิติการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวพบว่า รายได้ของไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในขณะที่ประเทศท่องเที่ยวหลักมีอัตราการฟื้นตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๗๐ – ๘๐ ของผู้มาเยือนก่อนโควิด ๑๙ การระบาดนักท่องเที่ยวที่มาไทยในปี ๒๕๖๕ ก็ได้เพียง ๑ ใน ๔ ของจำนวนผู้มาเยือนก่อนหน้านั้น และในปี ๒๕๖๖ ซึ่งเครื่องยนต์ท่องเที่ยวในประเทศอื่นเดินเต็มที่แล้วผู้มาเยือนไทยก็ยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๗๐ ในปี ๒๕๖๕  

สาเหตุที่การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวช้าส่วนหนึ่งเกิดจากการท่องเที่ยวของไทยการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน  (leisure tourism) มากกว่าการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (business tourism) ซึ่งฟื้นตัวเร็วกว่าและนักท่องเที่ยวที่เป็นนักธุรกิจใช้เงินสำหรับเดินทางและท่องเที่ยวต่อหัวสูงกว่ามาก เพราะเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท อีกทั้งต่างชาติก็ได้ดำเนินการถอนการลงทุนในเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยประมาณร้อยละ ๕๐ เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งเมื่อมาเที่ยวซ้ำซึ่งการใช้จ่ายมักจะต่ำกว่าการมาเที่ยวครั้งแรก เพราะมีประสบการณ์ในการเดินทางมาประเทศไทยแล้ว อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวไทยก็เป็นสิ่งดึงดูดใจประเภทกระจุ๋มกระจิ๋มไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวอัศจรรย์บรรลือโลก (world wonders) ประเทศไทยจึงเป็นจุดเชื่อม (connecting hub) ไปสู่แรงดึงดูดใจระดับโลก เช่น นครวัดนครธม ของกัมพูชา หรือเมืองพุกามในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งก็หมายความว่าจำนวนวันพักจะในประเทศไม่สูงนัก

หลังจากโควิด ๑๙ สงบลงพบว่า ลำดับที่ของไทยในโลกที่ประกาศโดย WEF ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีย่อยและตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการของรัฐ เช่น หลักนิติธรรม ความเชื่อมั่นต่อตำรวจ มลพิษและสิ่งแวดล้อมมีลำดับต่ำมาก อีกทั้งการลงทุนต่อหัวในภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวก็ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รอบข้าง โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งลำดับเคยอยู่ข้างหลังเราบัดนี้ก็ได้แซงหน้าไปแล้ว การท่องเที่ยวไทยที่ดูเผิน ๆ ว่าเหมือนจะเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจที่ดีกลับมีสนิมในโครงสร้างที่สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจท่องเที่ยวในระยะยาว สาเหตุก็เนื่องมาจากนโยบายท่องเที่ยวของไทยที่มุ่งกระตุ้นดีมานด์ของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศเป็นส่วนใหญ่  ละเลยการพัฒนาคุณภาพของซัพพลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เข้าใจว่าการท่องเที่ยวเป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบของสินค้าสาธารณะซึ่งรัฐต้องเป็นผู้จัดการ เมื่อการจัดการสินค้าสาธารณะมีคุณภาพต่ำลง สินค้าท่องเที่ยวโดยรวมก็มีคุณภาพต่ำลงด้วย ดังที่ปรากฏแก่สายตาโลกผ่านตัวชี้วัดที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น นโยบายการท่องเที่ยวจึงไม่ใช่แค่การตลาดเพื่อกระตุ้นดีมานด์ แต่ต้องปฏิรูปราชการทั้งระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบยุติธรรม อีกทั้งการโปรโมทเมืองหลักเมืองรองก็ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน ต้องใช้นโยบายท่องเที่ยวให้เหมาะสมโดยให้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับในจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวหนาแน่นและกระตุ้นด้านปริมาณหรือดีมานด์เฉพาะในจังหวัดที่ยังมีกำลังรองรับเหลือเฟือจึงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทย การปล่อยให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยไม่ดูความสามารถในการรับการรองรับจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม จนในที่สุดแล้วเราก็อาจจะไม่สามารถรักษามรดกของชาติและส่งต่อไปยังลูกหลานได้ในระดับคุณภาพเดียวกับที่เราเคยได้รับมา ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน

นอกจากนี้การท่องเที่ยวไทยยังมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ มีความเหลื่อมล้ำสูง สร้างอานิสงส์ไม่ถ้วนหน้า เป็นที่รู้กันว่าเฉพาะ กทม. ในปี ๒๕๖๖ ก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวไปถึงร้อยละ ๓๔ แล้วถ้าบวกอีก ๕ จังหวัดถัดมาก็จะมีเพียง ๖ จังหวัดในประเทศไทยเท่านั้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวถึงร้อยละ ๗๔ และเมื่อบวกไปอีก ๔ จังหวัดหมายความว่า จะมี ๑๐ จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงกว่าร้อยละ ๘๐ ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ ค่าจินี่ที่วัดความเหลื่อมล้ำของรายได้จากการท่องเที่ยวในระดับจังหวัดจากค่ารายได้จากการท่องเที่ยวก็สูงมาก งานวิจัยในอดีตเคยระบุจะเสนอว่าต่อทุก ๆ บาทของรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ครัวเรือนยากจนจะมีส่วนได้เพียง ๓ สตางค์ในขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุดจะได้ถึง ๓๙ สตางค์

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยยังมีความท้าทายอื่น ๆ คือ เราพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศค่อนข้างสูง ในปี ๒๕๖๒ ถ้าไม่นับประเทศประเภทเกาะแล้วเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยเทียบกับประเทศท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น สเปน ฝรั่งเศส ตุรกี พบว่า ไทยพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุดในโลก และแนวโน้มนี้ยังคงไม่หมดไปเพราะยังพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนอยู่ในลำดับสูง ในระดับจังหวัดก็เช่นเดียวกันมีหลาย ๆ จังหวัดโดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันซึ่งมีการพึ่งพิงเศรษฐกิจท่องเที่ยวสูงมาก จนทำให้ฐานเศรษฐกิจแคบกลายเป็นเศรษฐกิจเสาเดี่ยวหรือเศรษฐกิจแบบศาลพระภูมิที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง

 อีกทั้งการจัดการการท่องเที่ยวของภาคเอกชนก็ยังเป็นการจัดการท่องเที่ยวแบบมวลชนในขณะที่ความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างไปจากเดิม ความต้องการใช้บริการบริษัททัวร์ที่เสนอแพ็คเกจมาตรฐานน้อยลง แสวงหาประสบการณ์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะตัว และมีจิตสำนึกรักษาโลกมากขึ้น ทั้งหมดนี้หมายความว่าภาคท่องเที่ยวของไทยต้องการตลาดแบบยุคใหม่ สร้างแพลตฟอร์มให้แต่ละกลุ่มซึ่งมีบุคลักษณ์ต่างกันเพื่อให้สามารถผสมแพ็คเกจของตนเองจากกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่หลากหลาย

โลกท่องเที่ยวในอนาคตเป็นโลกของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจไร้เงินสด เศรษฐกิจไร้สัมผัส เศรษฐกิจของความน่าเชื่อ และเศรษฐกิจแบ่งปัน ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีนำเสนอ การวิจัยและพัฒนาตลอดจนนโยบายสาธารณะ

          ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวก็ต้องเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวที่มองแค่ ๒ มิติคือเส้นทางท่องเที่ยวจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งเป็นระนาบ เช่น มองเมืองท่องเที่ยว และอีโคซิสเต็มส์ของจุดหมายปลายทาง จะต้องเปลี่ยนมุมมองท่องเที่ยวให้เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่ใช้ข้อมูล เกิดดิจิทัลภิวัตน์ในทุกส่วนของห่วงโซ่มูลค่าและเส้นทางของผู้บริโภค ใช้ทรัพยากรท่องเที่ยวอย่างชาญฉลาด กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และใช้ ซอฟพาวเวอร์ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เช่นนี้แล้วเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยถึงจะยั่งยืนและสามารถกระจายอานิสงส์ได้ถ้วนหน้า

Exit mobile version