- ผมเคยคิดที่จะบัญญัติศัพท์คำว่า New normal ว่า บรรทัดฐานใหม่
- แต่ผมเปลี่ยนใจ เมื่อได้ศึกษาความหมายและความแตกต่าง ของคำว่า Normal และ Norm
“ผู้ชายเดทกับผู้ชายเป็นเรื่องปรกติ ที่เรียก Normal แต่ไม่ใช่ Norm”
ผมจึงคิดว่า “บรรทัดฐานใหม่” น่าจะเหมาะกับ New norm มากกว่า New normal - คำว่า New normal จะบัญญัติว่าอะไรดี คำนี้เป็นภาษาอังกฤษ จึงต้องไปดูความหมายใน Oxford Dictionary ซึ่งให้คำจำกัดความว่า
“A previously unfamiliar or typical situation that has been standard, usual or expected”.
หมายถึง สถานการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่แต่เดิมเป็นสิ่งที่ไม่ปรกติ ผู้คนไม่คุ้นเคย ไม่ใช่มาตรฐาน ต่อมามีเหตุหรือวิกฤตบางอย่างทำให้มีการเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้สถานการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ปรกติและเป็นมาตรฐาน
คนไทยใช้ New normal อย่างแพร่หลาย ในขณะที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมักหมายถึง พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดีมีการใช้ New normal ทั้งในการเปลี่ยนแปลงของ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ New normal จึงมีความหมายเป็นพลวัต และใช้ได้ในหลายบริบท
คณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ได้บัญญัติคำนี้ไว้แล้วว่า ความปรกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งให้ความหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่สามารถนำไปใช้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นเช่นด้านเศรษฐกิจและการเมืองหรือภูมิอากาศ ที่มีตัวอย่างในพจนานุกรมภาษาอังกฤษได้
คณะกรรมการจึงมีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “นิวนอร์มัล” ซึ่งจะใช้ได้ในทุกบริบทและสื่อความหมายได้ดีกว่า - ในการบัญญัติศัพท์ที่มา จากภาษาต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยควรที่จะใช้คำภาษาไทยก่อน จะพิจารณา เขียนทับศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นลำดับสุดท้ายโดยใช้ เฉพาะที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
ผมจึงต้องชี้แจงให้ทราบถึงความจำเป็นในการที่จะต้องเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า New normal เพื่อให้ทราบถึงที่มาที่ไป - การบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตมีวัตถุประสงค์ให้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงเลือกคำที่เข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อน ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีก
ศ.นพ. สุรพล อิสรไกรศีล
นายกราชบัณฑิตยสภา