เมื่อวันอังคารที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดประชุมเสวนาสาธารณะราชบัณฑิตยสภา เรื่อง “กู้วิกฤตภัยแล้งและระบบประปาเค็มปี ๒๕๖๓” ณ ห้องประชุม ๔๐๑-๔๐๓ ชั้น ๔ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิต ประธานอาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิตยสภา, ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ราชบัณฑิต ประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ราชบัณฑิตยสภา และ ดร.ดวงตา ตันโช เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา รวมทั้งผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
การเสวนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ตลอดจนผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งในปี ๒๕๖๓ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบและการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งในปี ๒๕๖๓ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการศึกษาวิจัย ค้นคว้าหากลไก เฝ้าตรวจติดตามและเฝ้าระวังปัญหา ภัยแล้งทั้งระบบ รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสังคมล่วงหน้าก่อนภัยจะมา และมีแผนรับมือปรับตัวต่อภัยแล้งทั้งระบบ ลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพทั้งระบบ และนำผลที่ได้จากการเสวนาเสนอต่อรัฐบาล ให้จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในระยะยาว โดยเฉพาะมาตรการป้องกันและลดภาวะภัยแล้งของประเทศในทุกมิติและทุกภาคส่วน
ผู้เสวนาประกอบด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ, ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล, นายรักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการการประปานครหลวง, นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากรมชลประทาน และดำเนินรายการโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ราชบัณฑิต โดยเห็นว่า ช่วงภัยแล้งในขณะนี้ส่งสัญญาณการขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมในขั้นวิกฤตไปทั่วประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดไปอีกเป็นระยะเวลานาน น้ำในแม่น้ำสายหลัก หลายสายแห้ง ตลอดจนน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยกว่าปรกติ จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำประปาเค็มเนื่องจากแหล่งน้ำดิบในแม่น้ำเจ้าพระยาที่การประปานครหลวงใช้เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาถูกน้ำเค็มรุกเข้ามาเพราะน้ำที่จะส่งมาดันน้ำเค็มไว้ที่ปากแม่น้ำไม่เพียงพอ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ยากแก่การปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยวิธีกรองธรรมดาได้
การเตรียมการและหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งดังกล่าวจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องระดม ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ใช้น้ำ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อไป